Journal of Education Studies
วารสารครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Journal of Education Studies) ขอบเขตเนื้อหาของบทความที่เผยแพร่ลงในวารสารครุศาสตร์ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์ทางการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรและการสอน ได้แก่ การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา การสอนภาษาไทย การศึกษาคณิตศาสตร์ การศึกษาวิทยาศาสตร์ การสอนสังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา การสอนการงานอาชีพและเทคโนโลยี และการสอนภาษาต่างประเทศ ศิลปศึกษา ดนตรีศึกษา และนาฏศิลป์ศึกษา นโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ได้แก่ พัฒนศึกษา บริหารการศึกษา นิเทศการศึกษา อุดมศึกษา และธุรกิจและอาชีวศึกษา วิจัยการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษา สถิติและสารสนเทศการศึกษา จิตวิทยาการศึกษา สื่อทางการศึกษา เทคโนโลยีการศึกษา การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบโรงเรียน
Current Issue
Journal of Education Studies
Volume: 51, Issue: 1 (January - March 2023)
|
กรอบความคิดแบบเติบโต : ทักษะที่จำเป็นแห่งโลกยุคพลิกผัน (Growth Mindset: An Essential Skill of VUCA World) |
|
ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ, พิทชยา ตั้งพรไพบูลย์ |
|
Page: 1 - 12 |
|
[Abstract] [PDF]
การเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนของโลกยุคพลิกผันส่งผลกระทบต่อวงการการศึกษาทั้งในเชิงการบริหารงาน กระบวนการจัดการเรียนรู้ รวมถึงผู้เรียน ผู้เรียนทุกระดับได้รับผลกระทบทั้งด้านการเรียน การดำเนินชีวิตและสุขภาพจิต โลกยุคพลิกผันทำให้ผู้เรียนต้องปรับตัวทั้งในด้านวิธีการเรียนรู้ และการเอาชนะอุปสรรคทางการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้เรียนจำนวนมากประสบปัญหาสุขภาพจิตและไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหล่านี้ ความท้าทายของนักการศึกษาคือ จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมีมุมมองในเชิงบวกกับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ตนเองได้รับ ทั้งประสบการณ์สำเร็จและประสบการณ์ล้มเหลว ดังนั้นการมีกรอบความคิดแบบเติบโตจึงมีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียนในยุคปัจจุบัน กรอบความคิดแบบเติบโตช่วยให้ผู้เรียนมองอุปสรรคเป็นความท้าทาย และพยายามพัฒนาตนเอง บทความนี้อภิปรายถึงผลกระทบของโลกยุคพลิกผันต่อผู้เรียน ความสำคัญของกรอบความคิดแบบเติบโตสำหรับผู้เรียนที่อยู่ในสถานการณ์ของโลกยุคพลิกผัน และแนวทางในการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตสำหรับผู้เรียนเพื่อให้สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง ปรับตัวและมีสุขภาพจิตที่ดี
|
|
|
สุขภาพจิตโรงเรียน : แนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตวัยรุ่น (School Mental Health: Guideline for Mental Health Promotion in Adolescents) |
|
นันทกา สุปรียาพร |
|
Page: 1 - 13 |
|
[Abstract] [PDF]
การสร้างสุขภาพจิตที่ดีในโรงเรียนโดยการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้แก่บุคลากรทางการศึกษา เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูแนะแนว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและส่งเสริม การเกิดปัญหาสุขภาพจิตและช่วยลดการอาการของโรคจิตเวชที่รุนแรงในวัยรุ่นได้ นอกจากนี้การมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนยังสามารถช่วยลดการตีตราในวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต และช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพจิตโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (school-based mental health) จึงเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพจิตและข้อจำกัดหลายด้านซึ่งส่งผลให้วัยรุ่นไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้ ซึ่งการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนนั้นมีกรอบในการปฏิบัติอยู่ 4 ระดับคือ 1) สร้างลักษณะพื้นฐานของโรงเรียนที่มีวัฒนธรรมและมีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีของวัยรุ่น (school ethos) 2) การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ โดยกำหนดโครงสร้างนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการด้านสุขภาพจิต (whole-school organisation) 3) ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนคือการส่งเสริม พัฒนา การป้องกันและแก้ปัญหา (pastoral provision) และ 4) การปฏิบัติในห้องเรียนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตให้เกิดประสิทธิภาพ (classroom practice)
|
|
|
เครื่องมืออนาคตวิทยาการศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของพลเมืองเน็กซ์ในยุคชีวิตปกติวิถีถัดไป (Educational Futurology Tools to Promote Lifelong Learning Skills of Next Citizens in the Next Normal Era) |
|
วสุธาร พันธุ์อร่าม, ชรินทร์ มั่งคั่ง, ชญานิตย์ ยิ้มสวัสดิ์, เชษฐภูมิ วรรณไพศาล |
|
Page: 1 - 13 |
|
[Abstract] [PDF]
อนาคตวิทยาการศึกษา (educational futurology) เป็นวิทยาการข้ามศาสตร์ (transdisciplinary sciences) ที่มีความสัมพันธ์กับในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมพลเมืองสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทุกบริบทในสังคมปัจจุบัน การศึกษาที่มุ่งสู่อนาคตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สอนทุกคน เพราะมันช่วยทุกคนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วยนักเรียนพัฒนามุมมองเชิงอนาคตช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการกับความไม่แน่นอนได้ของอนาคตอย่างมีเหตุผล บทความนี้ชี้เห็นความสามารถของการเป็นพลเมือง NEXT เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย ความครอบคลุม (inclusive) ความรู้ข้อมูล (informed) ความผูกพัน (engaged) ความสมดุล (balanced) และความกระตือรือร้น (alert) ซึ่งความสามารถเหล่านี้ควรจะบรรจุในเครื่องมือที่เสริมสร้างความเป็นพลเมืองเน็กซ์ การนำเสนอเครื่องมือที่จะสามารถดึงความสามารถความเป็นพลเมืองเน็กซ์ในบทความนี้ได้กล่าวถึงเครื่องมืออนาคตวิทยาศึกษาในรูปแบบการพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์แบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOCs) เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นการนำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสาน ผ่านช่องทางออนไลน์เน้นให้เกิดการเข้าถึง (accessibility) ด้วยอินเทอร์เน็ตแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก ในฐานะเครื่องมืออนาคตในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพลเมืองเน็กซ์ในยุคชีวิตปกติวิถีถัดไป
|
|
|
ความรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับการสอน : องค์ประกอบและแนวทางการประเมิน (Mathematical Knowledge for Teaching: Components and Assessment) |
|
ศันสนีย์ เณรเทียน, จงกล ทำสวน |
|
Page: 1 - 14 |
|
[Abstract] [PDF]
ความรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับการสอน เป็นความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ในงานที่เกี่ยวกับการสอน ในบทความนี้จะนำเสนอองค์ประกอบของความรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับการสอน คือ ความรู้ด้านเนื้อหา ความรู้เฉพาะด้านเนื้อหา ความรู้ด้านเนื้อหาในแนวราบ ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและนักเรียน ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและการสอน และความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและหลักสูตร ซึ่งจะนำเสนอความหมาย ลักษณะสำคัญของความรู้ และตัวอย่าง ในส่วนของความรู้เฉพาะด้านเนื้อหาที่เป็นความรู้และทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับการสอน จะนำเสนอในลักษณะพฤติกรรมที่ครูแสดงออกผ่านการอธิบายความรู้ทางคณิตศาสตร์ทั้งความรู้เชิงมโนทัศน์และเชิงกระบวนการ การเลือกใช้ตัวแทนความคิดทางคณิตศาสตร์ และการตัดสินความถูกต้องและสมเหตุสมผลของงานทางคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ในบทความจะนำเสนอตัวอย่างของคำถามที่ใช้ในการประเมินความรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับการสอนจำแนกตามองค์ประกอบ ซึ่งครูและนักการศึกษาสามารถนำคำถามไปใช้เป็นแนวทางในการประเมินคุณภาพครูคณิตศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของนักศึกษาครู
|
|
|
กลยุทธ์การบริหารวิชาการตามแนวคิดความเป็นพลเมืองดิจิทัล ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา (Strategies for the Academic Administration According to the Digital Citizenship Concept of Educational Institutions under the Nakhon Ratchasima Primary Educational Service Area Office) |
|
จุฬาลักษณ์ ยอดยิ่ง, สุภาพ ผู้รุ่งเรือง, ศิริ ถีอาสนา |
|
Page: 1 - 13 |
|
[Abstract] [PDF]
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดการบริหารงานวิชาการและความเป็นพลเมืองดิจิทัล 2) ศึกษาความต้องการจำเป็นของการบริหารงานวิชาการตามแนวคิดความเป็นพลเมืองดิจิทัลของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา 3) สร้างกลยุทธ์การบริหารงานวิชาการตามแนวคิดความเป็นพลเมืองดิจิทัล กลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ได้แก่ โรงเรียน จำนวน 306 แห่ง ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้อำนวยการและครูวิชาการ เครื่องมือการวิจัยได้แก่ แบบประเมินกรอบแนวคิด แบบสอบถาม และแบบประเมินกลยุทธ์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) กรอบแนวคิด 1.1) การบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (2) จัดการเรียนการสอน และ (3) การวัดและประเมินผล และ 1.2) ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ประกอบด้วย (1) การมีความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น (2) การเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และ (3) การมีความรับผิดชอบและการรักษาความปลอดภัย 2. ความต้องการจำเป็นที่ต้องพัฒนาลำดับแรก 2.1) ด้านการบริหารงานวิชาการได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และ 2.2) ด้านความเป็นพลเมืองดิจิทัล ได้แก่ การมีความรับผิดชอบและการรักษาความปลอดภัย 3. การสร้างกลยุทธ์ 3.1) กลยุทธ์การบริหารงานวิชาการของสถานศึกษา มี 3 กลยุทธ์หลัก 14 กลยุทธ์รอง และ 79 วิธีดำเนินการ 3.2) ผลการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
|
|
|
การเปรียบเทียบระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทยและต่างประเทศ (A Comparison of Thailand’s Teacher Licensing System with Overseas Systems) |
|
ธีรภัทร กุโลภาส, ปัญญา อัครพุทธพงศ์ |
|
Page: 1 - 15 |
|
[Abstract] [PDF]
ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อคุณภาพครูที่เข้าสู่วิชาชีพ งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเปรียบเทียบระบบดังกล่าวของประเทศไทยและประเทศคัดสรร ได้แก่ ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งมีผลการประเมิน PISA อยู่ในระดับสูง อยู่ต่างภูมิภาคของโลก และมีข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ ผู้วิจัยใช้ผ่านระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาเอกสารทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการวิเคราะห์เนื้อหาโดยอาศัยมโนทัศน์และข้อมูลเป็นฐาน ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และการให้ข้อมูลย้อนกลับของระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของไทยและประเทศคัดสรรมีความแตกต่างกันบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทดสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การจำแนกประเภทและระดับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ระเบียบการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และการให้ข้อมูลย้อนกลับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องของไทย ควรมีการแบ่งประเภทและจำแนกระดับคุณภาพของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ปรับปรุงเกณฑ์การต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แก้ไขกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และพัฒนาการตรวจสอบสมรรถนะ การสอนของผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
|
|
|
การเสริมสร้างคุณลักษณะพลเมืองตื่นรู้ของผู้เรียนโดยการตั้งคำถามแบบโสเครติส (The Enhancement of Active Citizenship for Learners through Socratic Questioning) |
|
วรินทร สิริพงษ์ณภัทร |
|
Page: 1 - 13 |
|
[Abstract] [PDF]
การเสริมสร้างคุณลักษณะพลเมืองตื่นรู้ของผู้เรียนโดยการตั้งคำถามแบบโสเครติส เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้ โดยเน้นกระบวนการถามตอบด้วยประเด็นที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ และเรียนรู้จากการตอบคำถามจะเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นพลเมืองตื่นรู้จากการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์แบบโสเครติส และทฤษฎีการเรียนรู้ที่สอดรับในการจัดการเรียนรู้ การศึกษาพบว่าการตั้งคำถามแบบโสเครติสสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประเด็นการตั้งคำถามได้แก่ 1) คำถามเพื่อเปิดความคิด 2) คำถามเพื่อให้สร้างความเข้าใจแจ่มชัด 3) คำถามเพื่อขบคิดความแจ่มชัดนั้นให้เกิดเป็นมโนทัศน์ 4) คำถามเพื่อแสวงหาสมมติฐานอื่นหรือก่อให้เกิดสมมติฐาน 5) คำถามเพื่อทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนสมมติฐานนั้น 6) คำถามเพื่อขยายมุมมองจากสิ่งที่ได้ 7) คำถามเพื่อให้อนุมานพยากรณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น และ 8) คำถามเพื่อพิสูจน์คำจำกัดความ การสร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนได้คิดอย่างวิจารณญาณในทุกประเด็นคำถาม สามารถเชื่อมโยงกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบพุทธพิสัยของบลูม เป็นการสร้างเกราะป้องกันทางปัญญาให้แก่ผู้เรียนจากการขัดเกลาทางสังคม เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อการสร้างสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
|
|